กุมภโฆสกะ
เศรษฐีผู้ตกยาก
เศรษฐีผู้ตกยาก
เหตุการณ์เกิดขึ้นที่กรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ ของพระมหาราช พระนามว่าพิมพิสาร คราวหนึ่งเกิดอหิวาตกโรคร้ายแรง ชาวบ้านเรียกโรคระบาดชนิดนี้ว่า “โรคห่า” เกิดขึ้นเมื่อใด ประชาชนมีอันต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก
เศรษฐีเมืองราชคฤห์ป่วยด้วยโรคระบาดนี้ ก่อนตายได้บอกให้ลูกชายหนีไปที่อื่น รักษาตัวให้รอดก่อน เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วค่อยกลับมา เศรษฐีได้บอกที่ฝังขุมทรัพย์แก่ลูกชายก่อนสิ้นชีวิต ภุมภโฆสกะหนีไปอยู่ต่างเมืองเป็นเวลา ๑๒ ปี เมื่อกลับมายังเมืองราชคฤห์อีก ไม่มีใครจำเขาได้
เขาคิดจะไปขุดทรัพย์ที่บิดาบอกก็ไม่กล้าทำ เพราะกลัวคนอื่นจะหาว่าเขาลักทรัพย์คนอื่น จึงได้แค่แอบไปดู รู้ว่าทรัพย์ยังอยู่ก็ใจชื้น รอว่าวันเวลาอันสมควรมาถึงเมื่อใดค่อยขุดทรัพย์ขึ้นมาใช้ก็แล้วกัน
เขาไปรับจ้างคนอื่นยังชีพ เขาได้งานแปลกประหลาดทำ คือ การปลุกคนให้ตื่นขึ้นมาทำงานแต่เช้าตรู่ เรียกว่า เป็นนายยามคอยปลุกคน ว่าอย่างนั้นเถอะ
เมื่อถึงเวลาจวนสว่าง เขาก็จะเดินตะโกนปลุกผู้คนจากบ้านนี้ไปบ้านโน้นด้วยเสียงอันดังว่า “พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย ได้เวลาตื่นขึ้นมาทำงานแล้ว จงลุกขึ้นมาหุงข้าวหุงปลาเถิด ใครใคร่ทำบุญตักบาตรก็จงเตรียมภัตตาหารไว้ใส่บาตร”
เขาได้ปฏิบัติหน้าที่นี้มาด้วยความซื่อสัตย์ รับเงินจากนายจ้างไม่กี่มากน้อย เพียงพอยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น
วันหนึ่ง เขาเดินตะโกนปลุกชาวบ้านไปใกล้พระราชวัง พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับเสียงของเขา จึงตรัสกับข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดว่า “เอ๊ะ นั่นเสียงคนมีเงินนี่”
ว่ากันว่า พระเจ้าพิมพิสารทรงเชี่ยวชาญในศาสตร์ชื่อว่า “สัพพรวศาสตร์” (วิชาว่าด้วยเสียงร้องของคนและสัตว์ทุกชนิด) คือ ฟังเสียงคนพูดก็บอกได้ว่าใครเป็นอย่างไร ฟังเสียงสัตว์ต่างๆ ก็เข้าใจว่ามันหมายความว่าอย่างไร
ไม่ทราบว่าทรงศึกษามาจากสำนักไหน แต่เชื่อว่าเรื่องนี้คงมีจริง เพราะได้ทราบว่าพระวิปัสสนาจารย์บางรูปท่านส่งเสียงนกเสียงกาคุยกันเข้าใจ
ในตำนานเรื่องวันสงกรานต์ก็เล่าถึงหนุ่มธรรมบาล หลังจากครุ่นคิดคำตอบของกบิลพรหมไม่เข้าใจ นอนหมดอาลัยตายอยากว่าตนคงถูกตัดหัวแน่นอน ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่งได้ยินเสียงนกสองตัวคุยกันเกี่ยวกับปริศนาที่ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาล แล้วตัวหนึ่งก็เฉลยคำตอบให้อีกตัวฟัง ธรรมบาลฟังภาษานกเข้าใจ จึงจำเอาไปตอบ และชนะกบิลพรหมในที่สุด เรื่องนี้ก็แต่งให้ธรรมบาลเป็นผู้เชี่ยวชาญใน “สัพพรวศาสตร์” ดุจเดียวกับพระเจ้าพิมพิสาร
นางสนมได้ยินดังนั้น จึงสั่งให้คนตามไปดูเจ้าของเสียงว่าเป็นคนมีทรัพย์ดังที่ในหลวงรับสั่งหรือไม่
คนของนางไปแล้วกลับมารายงานว่านายคนนั้นเป็นคนยากจน มิได้ร่ำรวยดังในหลวงรับสั่ง พระสนมคิดว่า ในหลวงคงมิได้ตรัสเหลวไหลแน่นอน เพื่อพิสูจน์ให้รู้แน่ จึงกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตพาพระธิดาไปพิสูจน์ความจริงโดยรับปากว่า ถ้าเป็นจริง จะนำทรัพย์ของบุรุษหนุ่มนั้นมาถวายพระราชาจนได้
นางพร้อมพระธิดาใช้อุบายไปขออาศัยอยู่ที่บ้านกุมภโฆสกะ ใช้มารยาหญิงห้าร้อยเล่มเกวียน (อาจมากกว่านั้น) หลอกให้กุมภโฆสกะได้เสียกับลูกสาวของตนจนได้ หลังจากนั้น พระสนมก็สงสาร ไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสารให้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ผู้คนในละแวกนั้นจัดมหรสพขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยให้ทุกคนออกเงินจำนวนเท่านั้นเท่านี้ใครขัดขืนจะถูกลงพระอาญา
พระสนมผู้ซึ่งบัดนี้เป็นแม่ยายกุมภโฆสกะรบเร้าให้ไปเขาหาเงินมาให้จงได้ เขาบอกว่าจะไปหามาจากไหนก็เห็นๆ อยู่ว่าหาเช้ากินค่ำอย่างนี้ จะไปเอาเงินมาจากไหน
“ลูกพูดอย่างนั้นก็ไม่ถูก นี่เป็นพระบรมราชโองการนะ” แม่ยายเสียงแข็ง
“ข้อนั้นน่ะรู้อยู่ แต่จะไปหาเงินมาจากไหน” เขากล่าว
“ไม่รู้ล่ะไปหามาให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะต้องถูกลงพระอาญานะ” แม่ยายขู่
เขากลัวจะถูกลงพระอาญา จึงจำใจออกจากบ้าน แอบไปขุดเอาทรัพย์จำนวนที่ต้องการมา พระสนมก็ส่งเงินจำนวนนั้นเข้าวังหลวง
มีพระบรมราชโองการให้ผู้คนละแวกนั้นจัดมหรสพในทำนองนี้หลายครั้ง กุมภโฆสกะก็ไปขุดเอาทรัพย์มาให้แม่ยายทุกครั้ง ทรัพย์เหล่านั้นถูกส่งมาไว้ในวังทั้งหมด
วันดีคืนดี ราชบุรุษมาตามกุมภโฆสกะไปเฝ้าพระราชา เขาตกใจมาก ไม่รู้ว่าตนทำผิดอะไร จึงต้องถูกจับตัวไป พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้ขนทรัพย์ของเขามากองไว้ต่อหน้า แล้วตรัสถามว่า “ทรัพย์ทั้งหมดนี้เป็นของเธอ พระสนม (แม่ยายเธอ) ส่งมาให้ เธอยังมีทรัพย์อีกใช่ไหม”
เมื่อไม่สามารถจะปิดบังได้ เขาจึงรับว่าเป็นความจริง
“ทำไมเธอจึงซ่อนทรัพย์ไว้มากมายอย่างนี้ ไม่นำออกมาใช้” พระราชารับสั่งถาม
กุมภโฆสกะกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้ากลับมามาตุภูมิหลังจากหนีไปเป็นเวลา ๑๒ ปี ไม่มีใครจำได้ ครั้นจะขุดทรัพย์ออกใช้ เกรงว่าคนอื่นจะไม่เชื่อว่าทรัพย์นั้นเป็นมรดกของข้าพระพุทธเจ้า จึงจำต้องทำงานรับจ้างเขาเลี้ยงชีพไปวันๆ พระพุทธเจ้าข้า”
พระเจ้าพิมพิสาร รับสั่งให้ขนทรัพย์ทั้งหมดเข้าไปกองไว้ในวัง รวมได้ประมาณ ๔๐ โกฏิ แล้วทรงคืนทรัพย์ทั้งหมดให้แก่เขา สถาปนาเขาเป็นเศรษฐีประจำเมืองราชคฤห์คนหนึ่ง พร้อมกับพระราชทานพระราชธิดาให้เป็นภริยาของเขาอย่างเป็นทางการอีกด้วย
กุมภโฆสกะเศรษฐี ความจริงก็เป็นลูกเศรษฐีมาก่อน ภายหลังตกยาก ก็อดทนทำงานรับจ้างเลี้ยงชีพไป เมื่อได้โอกาสเหมาะจึงได้เปิดเผยสถานภาพของตนได้เป็นเศรษฐีประจำเมืองราชคฤห์
นัยว่าเขาเป็นเศรษฐีใจบุญ ทำบุญทำทานเสมอมั่นคงในพระรัตนตรัย สดับฟังธรรมเป็นนิจศีล ท้ายที่สุดได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อคราวตกทุกข์ก็ไม่ยอมแพ้ เมื่อคราวมั่งมีก็มิได้ลืมตน ทำบุญกุศลไว้ให้มาก เพื่อเป็นที่พึ่งพิงในสัมปรายภพ
นับว่าเป็นชีวิตที่ควรเอาเยี่ยงอย่างแท้จริงแล...•
ข้อมูล : บทความพิเศษ กุมภโฆสกะ: เศรษฐีผู้ตกยาก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น